Environment
สิ่งแวดล้อมที่ดี
หน้าแรก
สิ่งแวดล้อมน่ารู้
อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำและผลกระทบต่อสุขภาพ

การแยกทองคำออกจากแร่ด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น การบดหยาบ การบดละเอียด เป็นวิธีการที่ไม่สามารถแยกสกัดทองคำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทองคำที่พบในแร่มีปริมาณทองคำไม่เกิน 10 กรัมต่อตัน หรือประมาณ 0.001 % โดยน้ำหนัก ดังนั้น การสกัดทองคำด้วยสารเคมีโดยการใช้สารละลายไซยาไนด์จึงได้รับความนิยม เพราะสามารถสกัดทองคำได้มากกว่า 90% ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงและคุ้มทุน  ไซยาไนด์จึงถูกนำมาใช้ในกิจกรรมของเหมืองแร่ เพื่อสกัดทองคำและโลหะอื่นๆ เช่น เงิน ตะกั่ว ทองแดง ออกจากแร่ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารเคมีอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้แยกทองคำออกจากแร่ได้ เช่น คลอไรด์ โบรไมด์ ไทโอยูเรีย และไทโอซัลเฟต เป็นต้น แต่เนื่องจากสารประกอบเชิงซ้อนของทองคำกับสารดังกล่าวมีความเสถียรน้อยกว่าสารประกอบเชิงซ้อนของไซยาไนด์ และมีความเสี่ยงต่อมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อมสูง และยังมีราคาค่อนข้างแพงจึงไม่นิยมนำมาใช้

            โดยทั่วไปกระบวนการผลิตทองคำด้วยการใช้สารละลายไซยาไนด์ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ คือ นำแร่ที่ขุดได้มาบดให้มีขนาดตามต้องการ จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อแยกโลหะ เช่น ทองคำ เงิน และทองแดง ออกจากสินแร่ แล้วนำโลหะผสมที่สกัดได้ไปหลอม และทำการแยกทองคำให้บริสุทธิ์

ในกระบวนการสกัดทองคำ ไซยาไนด์สามารถทำปฏิกิริยากับโลหะชนิดอื่นที่เป็นองค์ประกอบในแร่เกิดเป็นสารเชิงซ้อนของไซยาไนด์ บางชนิดอาจสลายตัวได้ยาก อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนหรือสะสมในห่วงโซ่อาหาร นำไปสู่ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เมื่อทองคำถูกชะล้างออกจากสินแร่ เหลือเพียงกากแร่ที่ไม่มีทองคำในสารละลาย แต่ยังคงมีไซยาไนด์อยู่ จึงต้องนำของเสียที่เกิดขึ้นไปทำการบำบัดให้ไซยาไนด์อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมก่อนปล่อยทิ้งสู่บ่อกักเก็บกากแร่หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไซยาไนด์ที่ตกค้างจะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม และการเลือกวิธีบำบัดของเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงกำจัดไซยาไนด์เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงโลหะอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบในแหล่งแร่ที่นำมาสกัดทองคำเป็นสำคัญ

การสัมผัสหรือสูดดมไซยาไนด์ปริมาณสูงที่กระจายในอากาศระยะเวลาสั้นๆ จะมีผลต่อการทำงานของสมองและหัวใจ ทำให้ความดันโลหิตตก มีผลต่อศูนย์ควบคุมการหายใจทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ส่วนการได้รับสัมผัสไซยาไนด์ในปริมาณน้อยๆ  แต่เป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด อาเจียน ปวดศีรษะ ต่อมไทรอยด์เกิดการขยายตัว มือและเท้ามีอาการอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ตาพร่ามัว และหูอื้อ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากอีกอย่างหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำขนาดเล็ก หรืออุตสาหกรรมในครอบครัว ใช้วิธีการสกัดทองคำโดยใช้ปรอทไปจับทองคำออกมาจากดินทราย แล้วนำปรอทที่จับกับทองไปเผา ซึ่งปรอทจะระเหยและสู่ระบบทางเดินหายใจโดยตรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้เมื่อทิ้งปรอทใช้แล้วอยู่ในพื้นที่ขุดค้น จะทำให้เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ำอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

จากข้อมูลการทำเหมืองในต่างประเทศ สรุปได้ว่า ผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นมีความหลากหลายและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการทำเหมือง สถานที่ตั้ง สารต่างๆ ที่ปนอยู่ในก้อนแร่ที่ขุดขึ้นมา รวมถึงกากหางแร่ที่เป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและแต่งแร่ ซึ่งแร่บางชนิดมีพิษในตัวไม่สามารถป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เช่น ตะกั่ว กระบวนการทำเหมืองแต่ละรูปแบบจะเกิดผลกระทบที่แตกต่างกัน เช่น กระบวน                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                   การผลิตโดยวิธีหลอมละลายแร่ ซึ่งต้องใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูงมากทำให้เกิดก๊าซพิษ มีผลต่อมลภาวะทางอากาศ ของเสียที่เป็นโลหะหนักจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน การแยกแร่มีการใช้สารเคมี จึงส่งผลให้สารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนในแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือแหล่งน้ำดื่ม

มีผลศึกษาการได้รับสัมผัสไซยาไนด์ ในชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้เหมืองแร่ทองคำโดยใช้ไซยาไนด์ในการสกัดของประเทศมาเลเซีย ศึกษาระดับ ไธโอไซยาเนต (thiocyanate) ในปัสสาวะ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่ากลุ่มได้รับสัมผัสมีระดับไธโอไซยาเนต  สูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ใน เหมืองปิด Gold King Mine ในรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งใน 230 เหมืองเก่าที่มีการรั่วไหลของธาตุโลหะจากบ่อเก็บกักหางแร่ ได้แก่ แคดเมียม ทองแดง ตะกั่ว สารหนู แมงกานีส สังกะสี และสารปนเปื้อนอื่นลงสู่แม่น้ำ โดยพบตะกั่วและเหล็กสูงกว่าค่ามาตรฐาน 100 และ 326 เท่าตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยมีการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย มาตั้งแต่ปี 2548 หลังจากนั้นกองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้มีการสำรวจคุณภาพน้ำในลำน้ำฮวย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลย พบสารหนู แคดเมียม และแมงกานีสสูงกว่าปกติ โดยในปีแรกที่ทำการศึกษามีค่าแมงกานีสสูงกว่าค่ามาตรฐานทุกสถานี และมีไซยาไนด์สูงกว่าค่ามาตรฐาน 3 สถานี

ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพจากการประกอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้รับตัวอย่างจากกรมควบคุมโรค เป็นการเก็บตัวอย่างเลือดของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงบริเวณรอบเหมืองจำนวน 46 ราย เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแมงกานีสในเลือด พบอยู่ในช่วง <5.0 ถึง 17.8 ไมโครกรัม/ลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิง มีค่าอยู่ระหว่าง 4.0-15.0 ไมโครกรัม/ลิตร พบว่าประชาชนที่มีปริมาณแมงกานีสในเลือดสูงกว่า 15 ไมโครกรัม/ลิตร จำนวน 7 ราย (คิดเป็นร้อยละ 15.2) แต่เนื่องจากแมงกานีสเป็นธาตุโลหะที่พบได้ทั้งในอาหารและสิ่งแวดล้อมทั่วไป และยังเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย จึงทำให้ยังไม่สามารถบอกแหล่งที่มาของการได้รับเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ในรายที่มีความเสี่ยงควรมีแผนการเฝ้าระวังโดยการเก็บตัวอย่างซ้ำในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน

การทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ หรือเหมืองอื่นๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การจัดการเหมืองแร่ที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการศึกษาและจัดทำแผนงานก่อนโครงการจะเริ่มดำเนินการ การจัดการของเสียที่เกิดขึ้นต้องมีการบำบัดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมก่อนปล่อยทิ้งสู่บ่อกักเก็บกากแร่หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าของเสีย สารเคมีที่ตกค้างจะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด

ข้อมูลจาก... สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข

Page View : 2,592
เนื้อหาอื่นๆ
ทั้งหมด >>
ประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2559 พบว่ามีปริมาณการเกิดขยะรวมกันทั้งประเทศ 27.06 ล้านตันต่อปี ประมาณ 74,130 ตันต่อวัน เฉลี่ยเป็นปริมาณขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ปริมาณขยะกว่าครึ่งยังถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสภาพอากาศ
03, 2019 @ 18:03
เผยผลตรวจวิเคราะห์น้ำในบ่อน้ำสีดำที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ฟลูออไรด์ เหล็กสูงกว่าเกณฑ์ และพบซัลไฟด์เกินมาตรฐานน้ำทิ้ง จัดเป็นน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัด หรือปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้ ไม่แนะนำให้ดื่มหรือใช้น้ำบ่อสีดำเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอาจทำให้เกิดโรคได้
Sep 06, 2017 @ 10:31
10, 2015 @ 16:17